การแปลประโยคกรรม
การแปลประโยคกรรม (Passive voice)
ประโยคกรรมในภาษาอังกฤษ หมายถึง ประโยคที่ประธานของประโยคเป็นผู้รับผลที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น
เดวิด คริสตัล (David Crystal, 1980: 259) ได้ให้นิยาม Passive voice ไว้ดังนี้
a term used in the grammatical analysis of voice, referring to a sentence, clause or verb form where the grammatical subject is typically the recipient or ‘goal’ of the action denoted by the verb . . .
รูปประโยคกรรมในภาษาอังกฤษมี 2 แบบ คือ
1. ประโยคกรรมชนิดไม่มีผู้กระทำปรากฏอยู่ในประโยค (Non-agentive or agentless passives)
The shop was broken into.
2. ประโยคกรรมชนิดมีตัวการ (ผู้กระทำ) ปรากฏอยู่ในประโยค (Agentive passives)
The message was posted by Yai.
ในภาษาไทย พระยาอุปกิตศิลปสาร (2499: 29) ได้กล่าวถึงประโยคกรรมไว้ว่า ประโยคกรรมเป็นประโยคที่มีกรรมวาจก (ผู้ถูกกระทำ) อยู่ต้นประโยค ดังเช่น
เขาโดนพ่อตี
เขาถูกครูทำโืทษ
ตึกนี้้สร้างตั้งแต่สมัย ร. 4
ขนมนี้กินอร่อยดี
ในบทความเรื่อง “ประโยคกรรมในภาษาไทยเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลง” ธัญญรัตน์ ปาณะกุล (2537: 17) กล่าวว่า ประโยคกรรมในภาษาไทยโดยทั่วไปมี 5 รูป ดังต่อไปนี้
1. ประโยคกรรม “ถูก” เช่น เขาถูกแม่ตี
2. ประโยคกรรม “ได้รับ” เช่น เขาได้รับเชิญไปงานเลี้ยง
3. ประโยคกรรมเป็นกลาง เช่น สะพานนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2523
4. ประโยคกรรมเน้นความ เช่น ตามี ผู้ใหญ่บ้านของเราเสือกินเสียแล้ว
5. ประโยคกรรมตัวการปรากฏ เช่น เพลงนี้ร้องโดยสันติ
วิธีแปล
ในการแปลประโยคกรรมจากภาษาอังกฤษเป็นไทยนั้น ผู้แปลจะต้องพิจารณาปริบท (context) ในภาษาอังกฤษอย่างรอบคอบ เพื่อดูความหมายที่แฝงอยู่ ถ้าปริบทเป็นประสบการณ์ในเชิงลบ หรือความหมายในทางไม่ดี เวลาแปลก็ให้ใช้ประโยคกรรมแบบที่ 1 คือ ประโยคกรรมถูก ถ้าปริบทเป็นประสบการณ์อันน่าพึงพอใจ หรือบ่งบอกถึงสถานการณ์อันน่ายินดี ก็ให้ใช้ประโยคกรรมได้รับ หรือประโยคกรรมแบบที่ 2 หากปริบทบ่งบอกว่าประธานเป็นเพียงผู้รับผลการกระทำจากใครคนใดคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ให้ใช้ประโยคกรรมแบบที่ 3 ซึ่งมีนัยความหมายเป็นกลาง ประโยคกรรมมีนัยความหมายเป็นกลางจะทำหน้าที่บอกกล่าว เล่าเรื่องหรือรายงานเหตุการณ์ สถานการณ์
จากประสบการณ์ในการสอนแปลของผู้เขียน และจากการตรวจงานแปลของนักศึกษาตัวอย่างประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า
Grandpa Mee, the head of our village, was eaten up by a tiger.
นักศึกษามักจะแปลโดยมีคำว่า “ถูก” อยู่ในประโยค เช่น
ตามี ผู้ใหญ่บ้านของเรา ถูกเสือกินเสียแล้ว
มากกว่าที่จะแปลเป็นประโยคกรรมเน้นความในแบบที่ 4 ว่า
ตามี ผู้ใหญ่บ้านของเรา เสือกินเสียแล้ว
ส่วนประโยคตัวอย่างนี้
This song was sung by Santi.
นักศึกษามักแปลว่า
เพลงนี้ร้องโดยสันติ
การแปลแบบนี้เป็นการแปลตามโครงสร้างภาษาอังกฤษโดยไม่มีทั้งคำว่า ‘ถูก’ หรือ ‘โดน’ หรือ ‘ได้รับ’ และมีตัวการหรือผู้กระทำตามหลังคำว่า ‘โดย’ ซึ่งก็เป็นการแปลที่ได้ใจความ
จากข้อแนะนำวิธีการแปลประโยคกรรมที่ให้ไว้ข้างต้น ลองดูตัวอย่างการแปลประโยคกรรมแบบต่าง ๆ ดังนี้
ประโยคกรรมนัยความหมายไม่ดี
1. The police station at Mukdaharn was attacked by a group of terrorists on Sunday.
สถานีตำรวจที่มุกดาหารถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายโจมตีเมื่อวันอาทิตย์
2. The students were punished for cutting class.
นักเรียนถูกทำโทษ เพราะโดดเรียน
3. Birds and many harmless creatures were destroyed by the overuse of insecticides.
นกและสัตว์ที่ไม่มีพิษภัยหลายชนิดถูกทำลายด้วยการใช้ยาฆ่าแมลงที่เกินขนาด
4. That man was fined for throwing cigarettes on the floor.
ผู้ชายคนนั้นถูกปรับฐานโยนบุหรี่ลงบนพื้น
5. The thief was forced against the wall, hands above his head.
ขโมยถูกบังคับให้หันหน้าเข้ากำแพงและยกมือไว้เหนือศีรษะ
ประโยคกรรมนัยความหมายดี
1. He was appointed the chairman of the company.
เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบริษัท
2. He was invited to a party.
เขาได้รับเชิญไปงานเลี้ยง
3. Mr. Krisada Arunwongse was elected the new Bangkok Governor.
นายกฤษฎา อรุณวงษ์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่
4. Thai hotels are praised all over the world for their excellent service.
โรงแรมไทยได้รับยกย่องไปทั่วโลกด้วยการให้บริการชั้นยอดเยี่ยม
5. Any Thai boxer who gets an Olympic medal will be rewarded
with a huge sum of money.
นักชกชาวไทยคนไหนก็ตามที่ได้เหรียญโอลิมปิกจะได้รับรางวัลเป็นเงิน
ก้อนใหญ่
ประโยคกรรมนัยความหมายเป็นกลาง
1. This building has been well designed to conserve energy.
ตึกนี้ออกแบบมาเป็นอย่างดีให้ประหยัดพลังงาน
2. Pancakes should be eaten warm from the pan.
แพนเค้กควรรับประทานร้อน ๆ จากกระทะ
3. Ramkhamhaeng University was founded in 1971.
มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971
4. Dictionaries were located on a shelf in the back of the room.
พจนานุกรม อยู่บนชั้นหลังห้อง
5. This fine bread is made from a special wheat flour.
ขนมปังแสนอร่อยนี้ทำจากแป้งสาลีชนิดพิเศษ
การแปลประโยคกรรมลดรูป
ประโยคบางประโยคเป็นประโยคกรรมที่ละ verb to be ไว้ในฐานที่เข้าใจ คงมีแต่กริยาช่องที่ 3 หรือ past participle ประโยคลักษณะนี้มักจะทำให้ผู้แปลที่ไม่มี ความรู้ในเรื่องโครงสร้างภาษาอังกฤษดีพอแปลผิด เพราะไปเข้าใจว่าเป็นคำกริยาที่อยู่ในรูป past tense เมื่อพบประโยคเช่นนี้วิธีการแปล คือ ให้ลองวิเคราะห์แยกแยะว่า กริยาตัวใดเป็น passive voice ลดรูป คือ ละ verb to be ไว้ ตัวอย่างเช่น
1. The name printed in red ink was very easy to find and read.
มาจากประโยค 2 ประโยคว่า
The name was printed in red ink. และ
The name was very easy to find and read.
เวลาที่รวมทั้งสองประโยคเข้าด้วยกัน จะพบว่าประธานซ้ำกันและ สามารถตัดประธานออกไปได้ 1 ตัว โดยแทนที่ด้วย Relative pronoun นั่นก็คือ ประโยคจะอยู่ในลักษณะของประโยคซับซ้อน (Complex Sentence)
The name that was printed in red ink was very easy to find and read.
จากประโยคนี้เราสามารถตัด (Relative pronoun) that และตัด verb to be ซึ่งอยู่ในรูป was ออกไปได้อีก ประโยคก็จะกลับมาเป็นประโยคชนิด simple ที่มี participle phrase ขยายนาม เมื่อวิเคราะห์ได้เช่นนี้ผู้แปลก็จะทราบว่า printed ในประโยคข้างบนคือ passive voice ที่ลดรูปนั่นเอง และสามารถแปลออกมาได้ตามนัยความหมายที่แฝงอยู่ โดยใช้วิธีการแปลประโยคกรรมที่กล่าวมาแล้ว ประโยคนี้จึงแปลว่า
ชื่อที่พิมพ์ด้วยหมึกแดงมองเห็นและอ่านได้ง่าย
2. The president, accompanied by his advisors, had arrived.
ประธานพร้อมด้วยบรรดาที่ปรึกษาได้มาถึง
3. Men trained in mathematics can be engineers.
คนที่ได้รับการฝึกฝนทางด้านคณิตศาสตร์สามารถเป็นวิศวกรได้
แหล่งที่มา: http://tintin1010dotcom.wordpress.com/เนื้อหา/การแปลประโยคกรรม/
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556
Translating a passive voice การแปลประโยคกรรม
ป้ายกำกับ:
การแปล,
การล่าม,
passive voice,
Thai into English,
Translation
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น