รภัสศักย์ เหตุทอง
การจัดการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างสรรค์พลเมืองของชาติที่มีคุณภาพ ประเทศที่มีความเจริญย่อมเป็นผลมาจากการมีประชากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงส่งผลให้การแข่งขันมีความเข้มข้นมากขึ้น หากต้องการให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคเดียวกันและในระดับสากลนั้น จะต้องพัฒนาประชากรให้มีความรู้ ความสามารถ ในสาขาวิชาต่าง ๆ สามารถสื่อสารได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ตลอดจนรอบรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
การศึกษาของไทยนั้นได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระดับใหญ่ๆ คือการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี กับการศึกษาขั้นอุดมศึกษา เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าการศึกษาขั้นอุดมศึกษา จำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาและเป็นการศึกษาในระดับที่จำเป็นต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะต้องมี ประกอบกับเป็นการศึกษาที่เป็นการศึกษาในเบื้องต้นที่จะต้องนำไปใช้เพื่อการศึกษาในระดับขั้นสูงต่อไปจึงควรที่จะให้ความสำคัญในการที่จะพัฒนามาตรฐานการศึกษาในขั้นพื้นฐานนี้ให้มีคุณภาพ เพื่อจะได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะเป็นกำลังอันสำคัญของประเทศต่อไป
ถึงแม้ว่าคุณภาพและมาตรฐานเป็นคำที่หาข้อยุติได้ยากกว่า คืออะไรแน่ เพราะคำ ทั้งสองผันแปรไปตามวัตถุประสงค์ กิจกรรมแต่ละประเภทรวมทั้งมิติและมุมมองที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม คุณภาพกับมาตรฐานเป็นคำที่แยกกันไม่ออก สิ่งที่มีคุณภาพจะต้องมีมาตรฐานด้วย และสิ่งที่ได้มาตรฐานก็ต้องเป็นสิ่งที่มีคุณภาพ เพราะมาตรฐานคือตัวกำหนดคุณภาพอันเป็นลักษณะที่พึงประสงค์
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ มีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาคนไทยทุกคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้อย่างมีความสุข ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้ทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมีการดำเนินงานด้านกฎหมาย การกำหนดนโยบายและแผน รวมทั้งการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย ถือเป็นวาระของชาติที่จะต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังนั้นจึงมีการประกันคุณภาพการศึกษาขึ้น ดังที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ หมวด ๖ มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา ๔๗ ได้กล่าวไว้ว่า ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับด้วยระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก ซึ่งระบบประกันคุณภาพ จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษานั้น ๆ เกิดประโยชน์ต่อหลาย ๆ ฝ่าย ระบบประกันคุณภาพจะทำให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาตนเองจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือมีความเป็นเลิศ ซึ่งจะเกิดผลดีแก่ผู้เรียน ทำให้ประชาชนมีความเสมอภาคในการรับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ระบบประกันคุณภาพจะช่วยให้ไม่มีสถานศึกษาใดเป็นสถานศึกษาที่ไร้คุณภาพ การที่สถานศึกษาจะสามารถประกันคุณภาพตนเองได้นั้น จะต้องเริ่มจากการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของตนเองก่อน
มาตรฐานการศึกษา คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริม กำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษา มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีทั้งหมด 18 มาตรฐาน และแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. มาตรฐานด้านคุณภาพผู้เรียน ได้แก่
1.1 มาตรฐานที่ 1 ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและ ค่านิยมที่พึงประสงค์
1.2 มาตรฐานที่ 2 ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
1.3 มาตรฐานที่ 3 ผู้เรียนมีทักษะในการทำงานรักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
1.4 มาตรฐานที่ 4 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและ มีวิสัยทัศน์
1.5 มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร
1.6 มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
1.7 มาตรฐานที่ 7 ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
1.8 มาตรฐานที่ 8 ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา
2. มาตรฐานด้านการเรียนการสอน ได้แก่
2.1 มาตรฐานที่ 9 ครูมีคุณธรรม จริยธรรม มีวุฒิ/ความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ หมั่นพัฒนาตนเองเข้ากับชุมชนได้ดี และมีครูพอเพียง
2.2 มาตรฐาน 10 ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. มาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ได้แก่
3.1 มาตรฐานที่ 11 ผู้บริหารมีคุณธรรม จริยธรรม มีภาวะผู้นำ และมีความสามารถในการบริหารจัดการศึกษา
3.2 มาตรฐานที่ 12 สถานศึกษามีการจัดองค์กร โครงสร้าง ระบบการบริหารงานและพัฒนาองค์กร อย่างเป็นระบบครบวงจร
3.3 มาตรฐานที่ 13 สถานศึกษามีการบริหารและจัดการศึกษาโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน
3.4 มาตรฐานที่ 14 สถานศึกษามีการจัดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.5 มาตรฐานที่ 15 สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนอย่างหลากหลาย
3.6 มาตรฐานที่ 16 สถานศึกษามีการจัดสภาพแวดล้อมและการบริหารที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติเต็มศักยภาพ
4. มาตรฐานด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ได้แก่
4.1 มาตรฐานที่ 17 สถานศึกษามีการสนับสนุนและใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาในท้องถิ่น
4.2 มาตรฐานที่ 18 สถานศึกษามีการร่วมมือกันระหว่างบ้าน องค์กรทางศาสนา สถาบันทางวิชาการ และองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาวิถีการเรียนรู้ในชุมชน
ซึ่งหลักการ และวิธีการของประกันคุณภาพภายใน คือการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ เขียนเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
1. การควบคุมคุณภาพ เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพ และการพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐาน
2. การตรวจสอบคุณภาพ เป็นการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
3. การประเมินคุณภาพ เป็นการประเมินคุณภาพของสถานศึกษา โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลในเขตพื้นที่ และหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลาง จะดำเนินการตรวจเยี่ยมเป็นระยะๆ ตามที่กำหนดโดยหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้การช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพอันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรับการประเมินภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นองค์กรมหาชน
กฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 มี 3 หมวด และในหมวด 2 กล่าวว่า การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในที่นี้จะกล่าวเพียงส่วนที่ 1 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีสาระสำคัญของการดำเนินการประกันคุณภาพภายใน มีขั้นตอนด่อไปนี้
(1) กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(2) จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา
ของสถานศึกษา
(3) จัดระบบบริหารและสารสนเทศ
(4) ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
(5) จัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา
(6) จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
(7) จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน
(8) จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
หลักการสำคัญของการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษามี 3 ประการ คือ
1. จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพภายในคือ การที่สถานศึกษาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา ไม่ใช่การจับผิดหรือทำให้บุคลากรเสียหน้า โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
2. การที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามข้อ1.1ต้องทำให้การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการและการทำงานของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษาโดยสถานศึกษาจะต้องวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายชัดเจน ทำตามแผนตรวจสอบประเมินผลและพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบที่มีความโปร่งใสและมีจิตสำนึกในการพัฒนาคุณภาพในการทำงาน
3. การประกันคุณภาพเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู อาจารย์และบุคลากรอื่นๆในสถานศึกษาโดยในการดำเนินงานจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน ชุมชน ติดตามผลพัฒนาปรับปรุง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำผลักดันให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครอง สังคมและประเทศชาติ
ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ตลอดจนการเตรียมการรับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภายนอก (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ (สมศ.) สถานศึกษาแต่ละแห่งมีแนวทางในการดำเนินงานในการประกันคุณภาพด้วยกระบวนการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานศึกษา เช่นยึดหลักการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพตามวงจรของ เดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (Do) การตรวจสอบหรือประเมินผลการปฏิบัติงาน (Check) และการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา (Action) ซึ่งโรงเรียนและสถานศึกษาส่วนใหญ่ใช้ระบบ เดมมิ่ง ในการบริหารคุณภาพการศึกษา
การประกันคุณภาพภายในมีผลดี คือ ทำให้โรงเรียนที่ยังไม่มีทิศทางในการบริหารการศึกษาหรือมีมาตรฐานด้อยกว่าโรงเรียนอื่น โรงเรียนนั้น ๆ ได้มีการพัฒนาตนเองขึ้นสู่มาตรฐานของประเทศ แต่มีข้อเสีย คือ จะทำให้โรงเรียนจำนวนหนึ่งที่เคยโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง จะต้องทุ่มเทเวลากับการทำมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ในที่สุดโรงเรียนทุกโรงเรียนจะมีคุณภาพในระดับมาตรฐานกลาง ความโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษก็จะค่อย ๆ ถูกกลืนกลบไปกับการมุ่งทำแต่มาตรฐานกลาง
โรงเรียนควรจะเพิ่มมาตรฐานคุณภาพที่เป็นมาตรฐานด้านผู้เรียนและด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เพิ่มเติมจากมาตรฐานกลางของ สมศ. เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน เช่น เมื่อ สมศ.กำหนดมาตรฐานกลาง 4 มาตรฐาน โรงเรียนก็ควรกำหนดมาตรฐานเพิ่ม เช่น มาตรฐานที่ 5: ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือมาตรฐานที่ 6 : การอยู่รวมกันในสังคมอย่างมีความสุข หรือมาตรฐานใด ๆ ก็ตามที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนในเชิงความมั่นคง การประกอบอาชีพ หรือการมีความรู้ในเรื่องของชุมชน หรือการจัดการศึกษาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำให้จำนวนมาตรฐานของโรงเรียนมีมากกว่ามาตรฐานการประกันคุณภาพภายนอก อีกทั้งโรงเรียนจะผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานกลางของประเทศ แต่จะมีการสร้างนักเรียนที่มีมาตรฐานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองตามความคาดหวังหรือความต้องการของชุมชนได้ด้วยเช่นกัน
เพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้มีความเป็นเลิศตามศักยภาพและสภาพจริงของบริบทชุมชน มาตรฐานการประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะกลายเป็น "มาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายนอก" เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทำให้ทุกโรงเรียนตระหนักว่า จะต้องมีมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างความแตกต่างและเน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของโรงเรียนหรือเน้นความเป็นเลิศเฉพาะทาง
แนวทางการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในได้กล่าวเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการว่าเป็นภาระงานปกติที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบผลร่วมกัน สถานศึกษาจะต้องปลูกจิตสำนึกให้ครูและบุคลากรทุกคนยึดถือไว้เสมอว่าการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในนั้นเป็นวัฒนธรรมการทำงานปกติของสถานศึกษา และอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือการกำหนดมาตรฐานซึ่งแสดงอัตลักษณ์ของสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของสถานศึกษาร่วมกัน และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา หากกระทำเพื่อมุ่งเน้นเอกลักษณ์ของสถานศึกษานั้นก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขั้นมานานแล้ว และเป็นเรื่องที่สถานศึกษาหลายแห่งสามารถทำได้ สถานศึกษาสามารถร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับ ดูแลและสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเชิงคุณภาพให้กับผู้ปกครอง ชุมชน และสร้างความมั่นคงอย่างถาวรให้กับระบบการจัดการเรียนการสอน ด้วยเหตุผลที่ว่า ในท้ายที่สุดแล้วประชากรจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. 2546. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545. กรุงเทพมหานคร : กระทรวงศึกษาธิการ.
จินดา ตาทิพย์. การประกันคุณภาพการศึกษา : นวัตกรรมใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาไทย
(ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.vcharkarn.com/vblog/36959
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2545. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ. 2550. สภาวะการศึกษาไทย 2549/2550. สำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา.2544. กรอบการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
สำนักทดสอบทางการศึกษา.2553. แนวทางพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
ติดต่อมา ที่ Facebook ของครูเพ็ชร ได้ครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น